“วิชาฆ่ามังกรอาจจะมีอยู่จริง แต่ในโลกนี้จะมีมังกรให้ฆ่าสักกี่ตัวเล่า จับปูจับปลาเป็นก็พอเลี้ยงปากแล้ว”
ผมชำเลืองมองแลดูแบบร่างคร่าว ๆ ที่หนีบมาพลิกซ้ายพลิกขวาแล้วก็นึกสงสาร จะว่าไป กฎหมายควบคุมอาคารมีการกำหนดนิยามศัพท์มากมาย แต่คำสำคัญคำหนึ่งมิได้กำหนดนิยามไว้ และคำ ๆ นั้นก็มีความสำคัญต่อการออกแบบอาคารมากที่สุดคำหนึ่ง คำนั้นคือคำว่า “แนวอาคาร”
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๔๑ วรรคสอง กำหนดว่า:-
“อาคารที่สูงเกินสองชั้นหรือเกิน ๘ เมตร ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายหรือคลังสินค้า ที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะ (๑) ถ้าถนนสาธารณะนั้นมีความกว้างน้อยกว่า ๑๐ เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย ๖ เมตร”
ผมบอกเรื่องนี้ไม่ยาก เพราะเรื่องที่สงสัย เคยมีคนสงสัยมามากแล้ว และคณะกรรมการควบคุมอาคารเคยให้แนวทางวินิจฉัยไว้เรียบร้อย ดังต่อไปนี้
“แนวอาคาร” หมายถึง แนวเสาหรือแนวผนังที่อยู่ด้านนอกสุดของอาคาร โดยแนวกันสาด แนวชายคาและแนวระเบียงไม่ถือว่าเป็นแนวอาคาร แนวรั้วและพื้นทางเดินภายนอกอาคารจึงไม่ใช่แนวอาคาร (หนังสือที่ มท ๐๗๑๐/๑๐๐๑๔ ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๖ : รวมข้อหารือฯ ๒๕๕๖ น.๒๒)
ตามนัยที่คณะกรรมการควบคุมอาคารวินิจฉัยไว้
ย่อมแปลความได้ว่า
กรณีผู้ใดประสงค์จะก่อสร้างอาคารที่สูงเกินสองชั้นหรือเกิน ๘ เมตรใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า ๑๐ เมตร บริเวณระยะร่นแนวอาคารซึ่งห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย ๖ เมตรตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมสามารถก่อสร้าง “กันสาด ชายคา ระเบียง รั้ว หรือทางเดินภายนอกอาคาร” ได้ เนื่องจากองค์ประกอบอาคารดังกล่าวมิใช่แนวอาคารแต่อย่างใด
คราวนี้น้องสถาปนิกมีความสงสัยต่อไปว่า แล้วห้องพักขยะ
หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่บุคคลไม่สามารถเข้าไปใช้สอยได้ เช่น
ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองภายนอกอาคาร ห้องปั๊ม (Pump room)
จะถือเป็นอาคารซึ่งต้องจัดให้มีระยะร่นของแนวอาคารด้วยหรือไม่
ประเด็นนี้ คณะกรรมการควบคุมอาคารให้แนวทางวินิจฉัยว่า:-
ประเด็นนี้ คณะกรรมการควบคุมอาคารให้แนวทางวินิจฉัยว่า:-
"กรณี ห้องพักขยะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองภายนอกอาคาร ห้องปั๊ม (Pump room) หากบุคคลอาจเข้าใช้สอยได้ก็จะเข้าข่ายเป็นอาคาร ซึ่งการก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะต้องร่นแนวอาคาร" (หนังสือที่ มท ๐๗๑๐/๐๔๘๗ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๑ : รวมข้อหารือฯ ๒๕๕๑ น.๑๑)
น้องสถาปนิกยังสงสัยไม่จบจึงเอ่ยปากขอถามคำถามอีกสักข้อ
เอ๊ะอัยนี่สงสัยเยอะจริง เอ้าว่ามา สงสัยอะไรอีก
ผมอยากจะงีบเต็มแก่
แล้วป้อมยามล่ะ ป้อมยาม จะก่อสร้างติดกับรั้วหรือใช้รั้วที่ติดถนนสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างป้อมยามเสียเลยจะได้ไหม?
ผมเอียงคอค่อย ๆ ตอบไปเบา ๆ ว่า เรื่องป้อมยามนี่ชัดเจน
คือ
ป้อมยามทำไว้ก็เพื่อให้ยามใช้สอยนั่งเฝ้าเวรยาม ยามเป็นคน เมื่อคนเข้าใช้สอยสิ่งก่อสร้างได้ สิ่งก่อสร้างนั้นก็เข้าข่ายเป็นอาคารมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ อย่างแน่นอน และเมื่อเข้าข่ายเป็นอาคารแล้ว การก่อสร้างใกล้ถนนสาธารณะย่อมต้องร่นแนวอาคารห่างจากถนนสาธารณะไม่สามารถก่อสร้างติดกับรั้วหรือใช้รั้วเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างได้
น้องสถาปนิกได้รับคำตอบจนเป็นที่พอใจ
ผมก็ได้เวลานอนกลางวัน สวัสดี
GPJ archiman
GPJ archiman
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น